วันที่ ๒๔ มีนาคม เป็นวันคล้ายวันมรณภาพของ พระเทพสุทธาจารย์ หรือ หลวงปู่โชติ คุณสัมปันโน รำลึก ๔๙ ปี อาจาริยบูชาคุณ พระมหาเถราจารย์ผู้เป็นธรรมทายาทหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
หลวงปู่โชติ คุณสัมปันโน แห่งวัดวชิราลงกรณวราราม ท่านเป็นอริยสงฆ์องค์หนึ่งที่ชาว อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ให้ความเคารพนับถือ เป็นพระสายปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ถือการปฏิบัติเป็นวัตรสำคัญตลอดชีวิตสมณเพศ ในชีวประวัติท่านมีเรื่องน่าสนใจที่ท่านบันทึกไว้เองเกี่ยวกับการระลึกชาติ และอีกเรื่องนึงที่เหล่าศิษยานุศิษย์ผู้เห็นในเหตุการณ์ได้บันทึกไว้คือ ท่านใช้มือชี้ให้พายุดับลงได้ เป็นอำนาจฤทธิ์จากผู้ทรงสมาธิ
“.. เมื่อเราสงบแล้ว อะไรมันจะวุ่นวาย
เมื่อเราสบายแล้ว อะไรมันจะเป็นทุกข์
เมื่อเราสุขแล้ว อะไรมันจะไม่สบาย ..”
โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่โชติ คุณสัมปันโน
ชีวประวัติหลวงปู่โชติ คุณสัมปันโน
นามเดิมท่านชื่อ “โชติ” ถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ เมื่ออายุ ๑๖ ปี มารดาพาไปบวชเรียนกับพระอาจารย์ดุลย์ อตุโต เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม ท่านสามารถอ่านหนังสือขอมได้โดยไม่ต้องเรียน ว่ากันว่าเพราะได้เรียนมาแล้วในชาติก่อนทั้งยังจำความต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ครั้นอายุ ๒๐ ปีได้อุปสมบทอยู่จำพรรษากับหลวงปู่ดุลย์ วัดบูรพาราม ต่อมาได้ออกธุดงค์จนมีโอกาสเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่ดูลย์ อตุโล กระทั่งมาเป็นเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณฯ
ท่านเป็นพระที่ถือสันโดษ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ปราศจากความโลภ โกรธ หลง และมีกิริยา วาจา ใจ เป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่ง ใครได้พบและพูดคุยกับท่านเพียงครั้งเดียว ก็จะเกิดศรัทธาในตัวท่านตลอดไป ด้วย คำพูด คำสั่งสอน และความเมตตากรุณาต่อมวลมนุษย์
เป็นที่กล่าวขานกันว่าท่านเป็นพระอาจารย์ที่มีพลังจิตน่ามหัศจรรย์ สามารถระลึกชาติและรู้เหตุการณ์ในอดีตชาติได้ ดังมีเรื่องราวดังต่อไปนี้
หลวงปู่โชติ ระลึกชาติ
พระเทพสุทธาจารย์ หรือหลวงปู่โชติ คุณสัมปันโน) ได้เล่าถึงเรื่องราวการจำอดีตชาติได้ของท่านว่า เมื่อชาติก่อนท่านมีชื่อว่า “เล็ง ” บิดาชื่อ “วา“ มารดาชื่อ “มา” เกิดที่จังหวัดสุรินทร์เช่นเดียวกับในชาติปัจจุบัน นายเล็งเป็นลูกคนโตของครอบครัวและมีน้องอีกหลายคน แต่น้องคนถัดจากนายเล็งเป็นผู้หญิงชื่อว่า “เหรียญ” ในบรรดาน้องๆ ด้วยกัน นางเหรียญจะคุ้นเคยสนิทสนมกับนายเล็งมากกว่าคนอื่น เพราะมีอัธยาศัยจิตใจต้องกัน จึงห่วงใยกัน มีการงานอะไรก็ช่วยกัน และจะไปไหนก็มักจะไปด้วยกัน ต่อมานายเล็งได้บวช เขาก็บวชอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๐ พรรษา และได้ศึกษาธรรมวินัยภาคภาษาเขมรจนแตกฉาน
ต่อมาลาสึก ขณะนั้นนางเหรียญน้องสาวมีบุตร-ธิดาแล้ว ๗-๘ คน เมื่อนายเล็งสึกจากพระมาก็มีภรรยาชื่อว่า “ปุ่ม” มีลูกสาวด้วยกัน ๓ คน ต่อมาเมื่อปีวอก พ.ศ.๒๔๕๑ นายเล็งอายุได้ ๕๕ ปี ก็เกิดเจ็บป่วยเริ่มตั้งแต่เดือน ๘ จนถึงเดือน ๑๑ ของปีนั้น ครั้นใกล้วันออกพรรษา อาการป่วยก็ทรุดหนัก และในวันแรม ๒ ค่ำเดือน ๑๑ หรือวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๕๑ เวลาดึก นางเหรียญ ได้คลอดบุตรคนที่ ๑๑ ที่บ้านกระทม ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
ต่อมาวันรุ่งขึ้น เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ พวกญาติที่มาเยี่ยมนายเล็งซึ่งกำลังป่วยหนักได้ข่าวว่านางเหรียญ คลอดบุตรก็พากันไปเยี่ยมนางเหรียญ ทางด้านนายเล็งซึ่งกำลังป่วยหนัก เมื่อได้ทราบว่านางเหรียญคลอดบุตรก็อยากไปเยี่ยมบ้าง เพราะมีความห่วงใยน้องสาวของตนมาก แต่ก็ไม่มีกำลังจะไป แม้อยากจะถามก็ไม่มีเสียงพูด เพราะอ่อนเพลียเหลือเกิน แล้วทำใจให้เป็นสมาธินอนหลับไป
ทันใดนั้นก็รู้สึกมีอาการคล้ายกับว่าเคลิ้มสบายแล้วผลอยหลับไป ต่อมามีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ยังมานั่งร่วมวงคุยกับญาติมิตรที่มาเยี่ยมไข้ตน แต่ก็แปลก จะพูดจากับใครก็ไม่มีใครพูดด้วย ไม่มีใครหันมามอง คล้ายกับว่าพวกเขาไม่ได้เห็นไม่ได้ยิน นายเล็งพูด สักครู่ใหญ่ญาติคนหนึ่งมาคลำดูที่ปลายเท้านายเล็ง เพื่อจะได้ทราบว่าอาการเป็นอย่างไร ก็ปรากฏว่านายเล็งตายเสียแล้ว จึงร้องไห้กันใหญ่ แต่ตัวนายเล็งเองกับรู้สึกว่าเที่ยวปลอบคนนั้นคนนี้ว่าไม่ต้องร้องไห้เสียใจ เพราะนายเล็งไม่ได้เป็นอะไร สุขสบายดี จะพูดปลอบอย่างไรก็ไม่มีใครได้ยิน
ต่อมาพวกญาติได้ช่วยกันอาบน้ำศพ แต่งงานศพตามประเพณี ตลอดเวลาที่เขาตั้งงานศพ นายเล็งมีความรู้สึกว่าไม่ได้เสียใจอาลัยในร่างเก่าของนายเล็งที่ตายไปแล้ว มีความรู้สึกเฉยๆ คล้ายกับไม่ได้ยินดียินร้ายกับเสื้อผ้าที่ถอดทิ้งไปฉันนั้น แต่ที่รู้สึกแปลกก็คือมีความสามารถพิเศษ คือสามารถมองเห็นผู้คนที่กำลังเดินมางานศพ แม้ยังอยู่ไกลๆ ก็มองเห็นได้ยินอะไรนิดเดียวก็รู้ทันที แล้วเมื่อใดที่ได้ยินหรือได้เห็น ก็จะไปถึงที่นั่นเมื่อนั้นทันที ตัวไว หูไว ตาเร็วเป็นพิเศษ
นายเล็ง ได้คอยรับแขก คอยปลอบโยนแต่ไม่มีใครได้ยิน คอยช่วยเหลือรับสิ่งของที่คนอื่นถือมาช่วยงาน แต่ก็ไม่มีใครส่งให้ นายเล็งตายเมื่อ แรม ๓ ค่ำเดือน ๑๑ เวลา ๑๕ นาฬิกา ตั้งศพบำเพ็ญกุศลอยู่ ๒ วัน ครั้นถึงวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๑๑ ก็นำไปฌาปนกิจ ในวันนำศพไปป่าช้า นางปุ่ม ภรรยานายเล็งและญาติคนอื่นๆ เดินร้องเคียงข้างไปกับเกวียนลากศพ นายเล็งถึงแม้จะไม่มีใครเห็นตัว แต่คอยเป็นหัวหน้าเป็นเจ้าภาพในงานทำศพไปจนถึงวันฌาปนกิจ คอยปลอบโยนคนโน้นคนนี้แต่ไม่มีใครได้ยิน
เมื่อเผาศพแล้ว พวกญาติก็นำอัฐิไปตั้งทำพิธีทำบุญอีกครั้งหนึ่ง พิธีสิ้นสุดเมื่อประมาณเวลา ๒๐ นาฬิกา จากนั้นพวกญาติก็แยกย้ายกันกลับบ้าน ส่วนนายเล็งเมื่อร่างถูกเผาแล้ว พิธีต่างๆ สิ้นสุดแล้ว ก็คิดอยากจะไปเยี่ยมนางเหรียญ ซึ่งคลอดลูกกำลังอยู่ไฟ พอนึกเท่านั้นก็ปรากฏว่าไปถึงบ้านนางเหรียญทันที ตามปกติเมื่อเดินไปบ้านนางเหรียญจะต้องผ่านต้นไม้หลายชนิดตามรายทาง แต่แปลกใจไปคราวนี้ไม่ได้ผ่านอะไรเลย เมื่อถึงบ้านก็เห็นนางเหรียญกำลังนอนกกลูกน้อย เมื่อเห็นทารกนายเล็งก็รู้สึกชอบใจอยากเข้าไปกอดจูบให้สมใจ
ในขณะที่ นายเล็ง ยืนดูทารกอยู่นั้น นางเหรียญ ตื่นขึ้นลืมตาเห็นนายเล็งพอดี นายเล็งก็ยิ้มให้ แต่คราวนี้แปลกนางเหรียญกลับเห็นนายเล็งได้นางได้พูดว่า “คุณพี่ไปคนละทิศละทางแล้ว บ้านไหนสบายก็เชิญไปตามสบายเถอะ อย่ามารบกวนน้องเลย” นายเล็งรู้สึกละอายใจมาก เพราะเขาไม่ยินดีตอบรับ จึงตัดสินใจกลับ แต่ยังรู้สึกรักในทารกนั้นมากคิดว่าไหนๆ ก็จะกลับแล้ว ขอให้ดูทารกให้เต็มตาสักครั้งก็ยังดี จึงชะเง้อคอยเพ่งดูทารกจนพอใจแล้วจึงหันหลังกลับออกไป แต่พอกลับตัวเท่านั้นก็รู้สึกหมุนติ้วเหมือนลูกข่าง
ไม่ทราบว่ากี่รอบแล้วก็หมดความรู้สึกไปแค่นั้น มารู้สึกตัวอีกทีก็เมื่อทารกนั้นพลิกคว่ำพลิกหงายได้ แต่ยังพูดจาไม่ได้ แต่เมื่อเห็นใครที่เคยรู้จักในชาติก่อนก็จำได้ อยากจะพูดกับเขา แต่ก็พูดไม่ได้ เพียงแต่ยกมือและพูดอ้อแอ้ได้เท่านั้น ต่อมาเมื่อพูดได้ก็บอกความจริง ว่าตนคือนาย “เล็ง” ไม่ใช่ชื่อ “โชติ” ดังชาติในชาติปัจจุบัน เป็นลูกของ “พ่อวา แม่มา” ไม่ใช่ “แม่เหรียญ พ่อแป๊ะ” ในชาติปัจจุบัน เมื่อมีคนมาถามว่าชื่ออะไร ก็ตอบว่า “ชื่อนายเล็ง” บ้านอยู่ที่ไหนก็ชี้ถูก มีภรรยาชื่ออะไร ก็ตอบว่า “ชื่อปุ่ม” มีลูกกี่คนก็ตอบว่า “สามคน” เป็นหญิงหรือชาย ก็ตอบว่า “หญิงทั้งหมด” เหล่านี้เป็นต้น
เป็นคำตอบคำถามง่ายๆ ได้ถูกหมด อีกทั้งนางเหรียญก็เคยเล่าให้ญาติๆ ฟังว่า เมื่อคืนวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๑๑ หลังจากฌาปนกิจศพของนายเล็งแล้วเมื่อคืนนั้นได้เห็นนายเล็งมาปรากฏตัว จึงทำให้คนเชื่อว่า เด็กชายโชติคือนายเล็งมาเกิด และก็เห็นด้วยเหตุนี้เด็กชายโชติจึงไม่เรียกนางเหรียญว่าแม่แต่เรียกว่าน้อง ส่วนยายก็เรียกว่าแม่ และลูกสาว ๓ คนในชาติก่อน จะเรียกเด็กชายโชติว่าพ่อ ถ้าเรียกว่าน้องเด็กชายโชติจะโกรธถึงกับด่าให้เลย เพิ่งจะมาเปลี่ยนมานับถือแบบชาติปัจจุบันเมื่อได้บวชแล้ว แต่ก็ยังพอใจให้ลูกทั้ง ๓ คนเรียกว่าพ่อในชาติปัจจุบัน
หลวงปู่โชติ ผู้เชี่ยวชาญในอรรถและธรรม
หลวงปู่โชติ จะมีอรรถรสในการพูดที่ทำให้ใครต่อใครสะดุ้ง เพราะทำไม่ดี ยามเงียบท่านจะสำรวมกาย วาจา ใจ เพื่อให้จิตอยู่ในสมาธิตลอดเวลาด้วยความไม่ประมาท การปฏิบัตินั้นจะเคร่งครัดมาก โดยใช้เวลาส่วนมากไปในทางวิปัสสนาเพื่อให้สิ้นซึ่งอาสวะกิเลสทั้งปวง นอกจากนี้ยังชอบในเรื่องการเทศน์เป็นที่สุด โดยจะพยายามให้ญาติโยมแต่ละท้องถิ่นเข้าใจไปด้วย อาทิ เมื่อสวดมนต์กับคนภาคเหนือ ก็จะแปลเป็นภาษาเหนือ สวดมนต์กับคนลาวก็แปลเป็นภาษาลาว สวดกับคนเขมรพอว่าบาลีเสร็จ ก็แปลเป็นเขมรเสียเลยทีเดียว
ที่น่าแปลกก็คือบางครั้งแปลเป็นสองภาษาเลย ถ้าหากญาติโยมมาจากท้องถิ่นที่ต่างกัน เสียงสวดมนต์ของท่านนั้นดังกังวานและไพเราะจับใจ ชาวบ้านใกล้วัดที่ได้ยินเสียงสวดมนต์ทำวัตรดังแต่ตอนตีสี่ มักจะมาร่วมทำวัตรกับพระที่วัดของท่านทุกครั้ง
#กองทัพธรรม
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล และหลวงปู่โชติ คุณสัมปันโน ได้รับบัญชาจากเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์(อ้วน ติสฺสเถร) เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน สืบต่อจากเจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารณ์(จันทร์ สิริจนฺโท) เอาธุระทางวิปัสสนาธุระเป็นกำลัง ได้ส่งพระกัมมัฏฐานศิษยานุศิษย์สายท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโลและท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระทั่วประเทศไทย หลวงปู่โชติ หรือพระมหาโชติ ในขณะนั้น ได้ไปเผยแผ่ธรรมในเขตจังหวัดสุรินทร์ พักอยู่สำนักสงฆ์วัดป่าโยธาประสิทธิ์ กรมทหารจังหวัดสุรินทร์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีนามว่า พระธรรมฐิติญาณ
ต่อมาท่านอยู่วัดสุทธจินดา จังหวัดนครราชสีมา เป็นเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดนครราชสีมา และได้เลื่อนสมณศะกดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช มีนามว่า พระราชสุทธาจารย์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๒
หลวงปู่โชติ ชี้พายุดับ
เรื่องน่าอัศจรรย์ของท่านที่ได้ถูกร่ำลืออย่างมากก็คือ “สามารถชี้พายุดับ” เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมฐิติญาณ เจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งต้องออกไปอบรมพระภิกษุในที่ต่างๆ ทั่วจังหวัดเพื่อให้รู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรมปรมัตถ์
ขณะที่ท่านกำลังบรรยายธรรมได้เกิดพายุพัดมาอย่างแรงต้นไม้ใบหญ้าราบเป็นหน้ากลอง ก่อนที่จะเคลื่อนตัวมาถึงศาลาวัดที่ท่านยืนบรรยายอยู่ ท่านได้หยุดสอนชั่วขณะ แล้วเอามือชี้เพื่อห้ามพายุนั้น ปรากฏว่าเจ้าพายุร้ายดับสงบลงทันที ท่ามกลางความตะลึงของเหล่าพระภิกษุที่อยู่ในเหตุการณ์ จนกลายเป็นเรื่องเล่าขานบันทึกอยู่ในประวัติของท่านสืบมา
ในด้านวัตถุมงคลท่านไม่ค่อยได้สร้างและปลุกเสก ด้วยถือว่าตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสหมดสิ้นได้ เครื่องรางของขลังก็ยังไม่บริสุทธิ์พอ เป็นที่เสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนาได้
กระทั่งปี พ.ศ.๒๕๐๖ ท่านเริ่มปลุกเสกเครื่องรางของขลังครั้งแรก และแจกจ่ายแก่ญาติโยมในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ อาทิ รูปหล่อพระมหาพุทธนิรันตราย, รูปหล่อตัวท่าน, รูปหล่อพระเจ้าแผ่นดินยืน, พระพิมพ์สมเด็จสามชั้น, เหรียญรูปเหมือน
เดิมทีวัดวชิราลงกรณ์ เป็นวัดราษฎร์ธรรมดา สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ซึ่งสร้างขึ้นโดยศรัทธาประชาชน กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๘ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และโปรดเกล้าฯ สถาปนาวัดวชิราลงกรณวราราม ขึ้นเป็นอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ในพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕
หลวงปู่โชติ ได้สร้างความเจริญด้วยการพัฒนาวัดและหมู่บ้านนั้นจนรุ่งเรืองอันควรค่าแก่กาลยุคสมัย จวบจนได้รับเลื่อนสมณศักดิ์มาตามลำดับ เริ่มจากพระสมุห์โชติ พระมหาโชติ พระครูคุณสารสัมบัน พระธรรมฐิติญาณ พระราชสุทธาจารย์ และพระเทพสุทธาจารย์
เมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๑๗ ท่านได้อาพาธด้วยโรคดีซ่าน แล้วเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงรับไว้เป็นคนไข้ของพระองค์ จวบจนถึงกาลมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๑๗
บรรณานุกรมอ้างอิง : คัดลอกจากหนังสือ “ประวัติหลวงปู่โชติ คุณสัมปันโน พิมพ์แจกในงานรำลึกฯ”
บทความจาก Facebook : ชมรมพุทธธรรมกรรมฐาน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี