ปฏิภาณกวี ผู้ริเริ่ม ‘วันสามเณร’ และนวกะร่วมสมัยในหลวง
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: แก่นเมือง
Column: Noble Monks
ผู้เขียน: ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต
“ถนนทุกสายมุ่งสู่เมืองหลวง หัวใจทุกดวงมุ่งสู่พุทโธ”
วลีนี้ดูเหมือนจะเป็นคำขวัญประจำตัว หลวงพ่อเพิ่ม กิตฺติวฑฺฒโน หรือสมณศักดิ์ตามพระราชทินนาม พระมงคลวัฒนคุณ อดีตรองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธรรมยุต) และอดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสาละวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๐ มีนาคม ชาวจังหวัดนครราชสีมา จัดงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเดชพระคุณหลวงพ่อขึ้น ณ เมรุชั่วคราววัดป่าสาละวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสรูปที่ ๓ นับจาก หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาธมฺโม (พระญาณวิศิษฎ์) ปฐมเจ้าอาวาส โดย หลวงพ่อเพิ่ม เป็นสมภารครองอารามแห่งนี้ต่อจาก พระราชสังวรญาณ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ นับเป็นเวลา ๑๑ ปี
โดยมี สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหารกรรมการมหาเถรสมาคม, ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เป็นประธานในพิธี
หลวงพ่อเพิ่ม เป็นผู้มีพระคุณอย่างสูงผู้หนึ่งต่อชีวิตของผู้เขียน เมื่อครั้งพ่อของผู้เขียนเสียชีวิตหลวงพ่อท่านเมตตาเดินทางจากปากช่องมาแสดงธรรมนิยามพร้อมกับเป็นพระอุปัชฌาย์บรรพชาบวชหน้าไฟให้ และสมัยเรียนหนังสือยามขัดสนหลวงพ่อก็ช่วยสงเคราะห์ค่าเล่าเรียนให้
ครั้นเมื่อผู้เขียนบวช หลวงพ่อก็ให้โอกาสหลาย ๆ อย่าง รวมทั้งแนะนำการเขียนบทกลอนให้ถูกต้องตามหลักภาษาและเรียนรู้ฉันทลักษณ์หนังสือดี ๆ ที่แนะนำให้อ่านเมื่อหัดเทศน์ เช่น งานเขียนของ พันเอกปิ่น มุทุกัณฑ์, สามก๊ก ฉบับวณิพก ของ “ยาขอบ” รวมทั้งกลอนของหลวงพ่อที่ได้หยิบยืมไปใช้ในงานวาระต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ จนวาระสุดท้ายก็ยังให้ความเมตตาอยู่ทุกครั้งที่พบพระเดชพระคุณ
โดยเฉพาะเมื่อครั้งผู้เขียนเป็นผู้ประสานงานจัดกิจกรรมเสวนาและอ่านบทกวี “ร่องรอยของเวลา : เครือญาติ ชาติพันธุ์ สุวรรณภูมิ” เมื่อมีนาคม ๒๕๕๑ เส้นทาง สูงเนิน พิมาย สุรินทร์ พนมรุ้ง ร่วมสมานฉันท์แบ่งปันความรู้ มีนักเขียนกวี และสื่อมวลชนร่วมเดินทาง เช่น สุจิตต์ วงษ์เทศ, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ทองแถม นาถจำนง, โชคชัย บัณฑิต’, มงคล เปลี่ยนบ้างช้าง, รักษ์ มนัญญา, ดุสิต คร่ำสุข, ขุน รำยอง, สุขุมพจน์ คำสุขุม, นฤมิตร ประพันธ์, สนั่น ชูสกุล, ไชยา วรรณศรี, ไศล ภูลี้, เสงี่ยม พวงคำ, สุรศักดิ์ สืบสหการ, อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, อติภพ ภัทรเดชไพศาล, อ.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, อ.ทรงยศ แววหงศ์, สามารถ จันทร์สูรย์, อานันท์ นาคคง และคณะสื่อมวลชน หนึ่งในกิจกรรมคือต้องไปถวายผ้าป่าหนังสือ ณ วัดป่าสาละวัน จังหวัดนครราชสีมา ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อเพิ่ม ดูแลเลี้ยงอาหารคณะเดินทางครั้งนั้นอย่างเต็มที่
ลักษณาการมรณภาพของหลวงพ่อนั้นเนื่องจากท่านมีโรคภัยรุมเร้าอาการเริ่มหนักหลังจากงาน “วันเพิ่มบารมี” ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ หลวงพ่อเริ่มอาพาธอย่างต่อเนื่อง เดินทางสลับไปสลับมาระหว่างวัดป่าสาละวัน จังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลมหาราช และวัดถ้ำไตรรัตน์ อำเภอปากช่อง จนกระทั่งคืนวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๕ หลวงพ่อมีอาการหอบอย่างรุนแรงเนื่องจากไม่สามารถขับเสมหะเองได้ แต่เป็นไปด้วยความมีสติอย่างครบถ้วน จนถึงเวลา ๐๕.๓๐ น. โดยประมาณของวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๕ ลมหายใจเริ่มแผ่วเบาลงจนสงบนิ่งไม่ติงไหวและละสังขารจากไปด้วยอาการอันสงบ สิริอายุได้ ๗๗ ปี ๕๗ พรรษา
ประวัติโดยย่อของหลวงพ่อเพิ่มนั้น เป็นชาวจังหวัดสุรินทร์โดยกำเนิด บ้านนาเสือก ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นคนในสกุลสุขสมาน บุตรคนโตของ นายแป้ง – นางเก็ย สุขสมาน มีพี่น้องรวมกัน ๗ คน
บรรพชาเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ กับพระครูรัตนากรวิสุทธิ์ สมณศักดิ์ขณะนั้นของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของหลวงพ่อเพิ่มเมื่อครั้งยังเป็นสามเณร มีเหตุอยากจะลาเพศสมณะ หลังออกพรรษา พ.ศ. ๒๔๙๗ พรรษาที่ ๓ ไปขอลากับหลวงปู่ดูลย์ ถึง ๓ ครั้งด้วยกันจนครั้งที่ ๔ เกิดเหตุพูดไม่ออกในเหตุที่จะลาสิกขาเปลี่ยนประเด็นขอไปเรียนหนังสือที่วัดสุทธจินดาจังหวัดนครราชสีมา และวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร
สุดท้าย หลวงปู่ดูลย์ได้ฝากให้มาเรียนยังสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร โดย หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน หรือ พระเทพสุทธาจารย์ เป็นผู้พา สามเณรเพิ่ม ไปฝากตัวกับ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศในสมัยนั้น
ในพระอารามหลวง วัดบวรนิเวศวิหาร นั้นหลวงพ่ออยู่ในการปกครองของ พระโสภณคณาภรณ์ (เจริญ สุฑฺฒโน) ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร องค์ปัจจุบัน และได้รับเลือกให้เป็นสามเณรหัวหน้าซ้อมสวดมนต์ในปี ๒๔๙๘
ช่วงเป็นสามเณรเพิ่มนั้น ในสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหารนี้เอง หลวงพ่อเพิ่มริเริ่มจัดกิจกรรมเล็ก ๆ ภายในกลุ่มสามเณรด้วยกันเรียกว่า “วันสามเณร” ภายหลังกิจกรรมวันสามเณรเป็นที่นิยมแพร่หลายในวัดอื่น ๆ และต่างจังหวัดในปัจจุบัน
เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ใน พ.ศ. ๒๔๙๙ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภรณ์ทิพยนิภาพระธิดาในรัชกาลที่ ๔ ทรงรับอุปถัมภ์ในการอุปสมบทสามเณรของวัดบวรนิเวศฯ สามเณรเพิ่มสุขสมาน จึงได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของท่าน โดยการอุปสมบทครั้งนั้นตามกำหนดการ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตฺโต) จะทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ระหว่างนั้นทรงประชวรไม่อาจเสด็จประกอบพิธีได้ จึงได้รับความเมตตาจากพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระโสภณคณาภรณ์ (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระสาธุศีลสังวร (สนธิ์ กิจฺจกาโร) ภายหลังคือ พระญาณวโรดม เป็นพระอนุสาวนาจารย์โดยได้สมณฉายาว่า “กิตฺติวฑฺฒโน” เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๙
ช่วงเวลาการอุปสมบทของหลวงพ่อเป็นมงคลอย่างยิ่ง ด้วยในปีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ทรงผนวชและเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร นับเป็นพระนวกะร่วมสมัยกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
หลวงพ่อเรียนอยู่สำนักวัดบวรนิเวศวิหารจนจบนักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม ๔ ประโยคเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ สมัยนั้นสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในปัจจุบัน ได้แต่งตั้งให้พระมหาเพิ่ม กิตฺติวฑฺฒโน เป็นพระธรรมทูตประจำจังหวัดเชียงรายและในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เป็นพระธรรมทูตประจำจังหวัดสุรินทร์ ก่อนจะมาช่วยงาน หลวงปู่โชติคุณสมฺปนฺโน วัดวชิราลงกรณ์วราราม โดยปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตประจำอำเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมา
จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจจาก หลวงปู่เจ้าคุณโชติ-พระเทพสุธาจารย์ ให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์วรวิหาร
และได้รับแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์วราราม ต่อจาก หลวงปู่โชติ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ และเจ้าคณะตำบลปากช่อง และเจ้าคณะอำเภอปากช่อง ตามลำดับ พร้อมกับเป็นพระอุปัชฌาย์
ช่วงอยู่วัดวชิราลงกรณ์วราราม หลวงพ่อได้ริเริ่มทำวารสาร พญาเย็น โดยเป็น สาราณียกรและเริ่มเผยแพร่บทกลอนต่าง ๆ ลงในวารสารดังกล่าว ก่อนจะปิดตัวลงโดยใช้นามปากกาว่า ลุงเพิ่ม, หญ้า เขาใหญ่ จนกระทั่งมีงานกลอนลงอย่างต่อเนื่องในวารสาร ดอกบัว ของคณะสงฆ์ธรรมยุตภาคตะวันออกเฉียงเหนือคอลัมน์ลานกวีใช้นามปากกา “พญาเย็น” คอลัมน์เพลินเพลง ใช้นามปากกา “หญ้า เขาใหญ่”
เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์วราราม พร้อมกับเป็นพระอุปัชฌาย์ ย่อมมีสัทธิวิหาริก อันเตวาสิก และญาติโยมผู้นับถือเป็นจำนวนมากอยากจัดมุทิตาสักการะในวันคล้ายวันเกิดจึงชักชวนกันจัดถวาย
หลวงพ่อจึงแนะนำว่าถ้าจะทำบุญวันเกิดอย่างเดียวดูจะเป็นการส่วนตัวเกินไป จึงเปลี่ยนให้จัดเป็นงานบุญมีฟังเทศน์มหาชาติบ้าง บรรยายธรรมะ ทำบุญอุทิศบูรพาจารย์ ถวายพระภัตตาหารแด่พระภิกษุ – สามเณร ถวายไทยธรรมแด่สามเณร ผู้เป็นเหล่ากอของสมณะ จึงถือเอาวันที่ ๗ ตุลาคมของทุกปี เป็นประเพณีของพระนวกะพระบวชใหม่ ช่วยกันทำโดยมีพระเถรานุเถระ เป็นที่ปรึกษา และเรียกวันนี้ว่า “วันเพิ่มบารมี” และยังเป็นประเพณีจัดเรื่อยมาอย่างสม่ำเสมอจนถึง พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่หลวงพ่อเริ่มอาพาธหนัก แต่กิจกรรมบำเพ็ญบุญยังมีอยู่ต่อเนื่อง
พ.ศ. ๒๕๒๙ หลวงพ่อจะลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์ฯ เพื่อมาพัฒนาวัดถ้ำไตรรัตน์ และเป็นเจ้าอาวาส ณ วัดแห่งนี้
ให้เป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรม ปลีกวิเวก สร้างลานธรรม โดยวัดถ้ำไตรรัตน์อยู่ห่างจากวัดวชิราลงกรณ์ฯ ประมาณ ๑ กิโลเมตร ที่หลวงปู่โชติมาบุกเบิกไว้และค้นพบถ้ำที่เชื่อมโยงกันเป็นสามถ้ำ จึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “ถ้ำไตรรัตน์” คือ ถ้ำพุทธรังสี และ ถ้ำธรรมรังสี ซึ่งหลวงพ่อเป็นผู้มาพัฒนาบุกเบิกและพบถ้ำ ส่วนถ้ำแห่งแรกคือ ถ้ำสังฆรังสีหรือ ถ้ำพระราชสุธาจารย์ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติสำหรับ หลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน ที่มาพบ จึงเป็นที่มาของ “วัดถ้ำไตรรัตน์” ในปัจจุบัน
คุณสมศักดิ์ จิตติพลังศรี ประธานบริษัทซัยโจเด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ถวายเงินในการก่อสร้างประมาณ ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ร่วมกับคณะศรัทธาในส่วนต่าง ๆ เป็นเจ้าภาพอุปถัมภ์ในการก่อสร้างอุโบสถ วัดถ้ำไตรรัตน์ ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ใช้ประกอบกิจของสงฆ์ได้อย่างสมบูรณ์
นักท่องเที่ยวมาเที่ยวและทำบุญไม่ขาดสายถึงแม้ว่า พ.ศ.๒๕๔๔ หลวงพ่อเพิ่ม กิตฺติวฑฺฒโน จะได้รับมติของคณะสงฆ์ให้มาดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดป่าสาละวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ก็ได้รับการสานต่อธรรมทายาทโดยมีพระครูวิสุทธิคุณากร (ศักดิ์เกษม สุทธเขโม น.ธ.เอก, ศ.นบ., M.A.) แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ ๙ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลปากช่อง (ธ) เขต ๒ ซึ่งดูแลรับผิดชอบต่อจากพระเดชพระคุณพระมงคลวัฒนคุณ จนถึงปัจจุบัน
ด้านสมณศักดิ์ พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูกิตติวัฒนคุณ พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอกในราชทินนามเดิม วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระมงคลวัฒนคุณ
งานด้านการปกครอง พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นเจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์วราราม
หลวงพ่อเพิ่มบารมี ตามที่คนใกล้ชิดลูกศิษย์ลูกหาที่ศรัทธามหาเถระรูปนี้เรียกขานกัน ท่านเป็นพระอารมณ์ดี มีเมตตาธรรมสูง คนใกล้ชิดจะรู้สึกอบอุ่น ไม่เคยแสดงอาการโกรธหรือโมโหให้ได้เห็น ในแง่การอธิบายธรรมก็เชื่อมโยงให้เข้าใจง่าย ๆ มีอุปมาเปรียบเทียบ รวมทั้งกวีโวหารเรียกว่า “นักกลอนมือฉกาจ” เลยทีเดียว
ผลงานกวีนิพนธ์ของหลวงพ่อมีเป็นจำนวนมาก กลอนแบบนิราศที่เขียนถึงจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทยที่รวบรวมเอาอำเภอ จุดเด่นของแต่ละจังหวัด แทรกแง่ข้อคิดเชิงปรัชญาไว้ด้วยหรือบทธรรมทัวร์ทั่วไทย หรือชุดดอกไม้ในแดนธรรม ซึ่งรวบรวมชื่อดอกไม้มาเขียนเป็นกลอนดอกสร้อยไว้ครบครัน รวมทั้งบท มงคล ๓๘ ที่หลวงพ่อมักทำเป็นใบปลิวแจกญาติโยม ซึ่งออกแบบเป็นรูปพระเจดีย์ อ่านขึ้นตั้งแต่ฐานจนถึงบทจบของกลอน
นอกจากนี้ยังบทอื่น ๆ อีกหลายสำนวน รวมเป็นเล่มก็เล่มหนาเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น บทหมอดูแม่น ๆ
สุขหรือทุกข์ หมอดู รู้ที่จิต
ถูกหรือผิด หมอดู รู้ที่ผล
ดีหรือชั่ว หมอดู รู้ที่ตน
มีหรือจน หมอดู รู้ที่ใจ
นอกจากนี้คติธรรมประจำใจของหลวงพ่อเพิ่มบารมี คือ “ทำดีเป็นทุน ผลบุญเป็นกำไร ความสุขใจเป็นรางวัล” หลายคนพบหลวงพ่อมักขอวัตถุมงคล หลวงพ่อมักจะมีพระมาแจกเสมอ ๆ ไม่ว่าจะเป็น พระที่ชอบแจก หลวงพ่อยิ้ม, หลวงพ่อแย้ม, หลวงพ่อแจ่ม, หลวงพ่อใส, หลวงพ่อสด, หลวงพ่อสติ, หลวงพ่ออภัย
วัดกาย ตำบลขันธ์ ๕ อำเภอใจ จังหวัดจิตรนคร เป็นพระที่ดัง ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ชนิดยิงไม่ออกฟันไม่เข้า แต่ต้องปฏิบัติดังนี้ เวลาเขายิงกันที่ไหนอย่าออกไป เรียกว่า ยิงไม่ออก เวลาเขาฟันกันที่ไหนอย่าเข้าไป เรียกว่า ฟันไม่เข้า
นอกจากนี้หลวงพ่อยังมีธรรมชวนชิม…สูตรอาหารสมานไมตรี โดยมีการเตรียมเครื่องปรุงเป็นอภัย ๓ ส่วน, ความหวังดี ๓ ส่วน, วาจาไพเราะพอประมาณ ความปรารถนา ๓ ส่วน, ความเห็นใจ ๓ ส่วน, ความโอบอ้อมอารี ๓ ส่วน และยิ้มแฉล้มตามต้องการ
วิธีปรุง คนความหวังดีและอภัยให้เข้ากันเตรียมวาจาไพเราะพอประมาณ แล้วค่อย ๆ ผสมความปรารถนาดีลงไป ส่วนความเห็นใจและความโอบอ้อมอารีนั้นบรรจงคนให้เข้ากับส่วนอื่น นำไปอบในหัวใจที่อบอุ่น (อย่าให้ร้อนนัก เดี๋ยวส่วนผสมจะไหม้) โดยมีน้ำใจหรือยิ้มแฉล้มเป็นครีมราดหน้าแล้วแจกจ่ายรับประทานบ่อย ๆ โดยทั่วกันหมายเหตุ ๓ ส่วน คือ ๑. คนที่เรารัก ๒. คนที่เราไม่รัก ๓. คนทั่วไป
นี่ถือว่าเป็นการสอนธรรมะทางอ้อมโดยแบบฉบับ หลวงพ่อเพิ่มบารมี
ของฝากจาก…หลวงพ่อ
นำเที่ยวแดนธรรม
ดอกเอ๋ยดอกไม้
มีทั่วไปในดินถิ่นสถาน
บ้างก็มีกลิ่นหอมย้อมดวงมาลย์
บ้างก็พาลกลิ่นเหม็นเคยเห็นกัน
มองธรรมชาติแล้วลองตรองธรรมะ
จะพบปะความจริงทุกสิ่งสรรพ์
หากย้อนดูตัวเรารู้เท่าทัน
ก็จะพลันสบสุขสิ้นทุกข์เอย.
ดอกบัว
ดอกเอ๋ยดอกบัว
กำเนิดตัวอยู่ในโคลนก้นบึงหนอง
แต่ก็มีสีสะอาจปราศละออง
คนหมายปองดอกบัวทั่วพารา
อันคนเราแม้เกิดกำเนิดต่ำ
หากไม่ทำความชั่วตัวบาปหนา
ย่อมยกตนสูงเด่นเห็นทันตา
มีคุณค่าน่าชมนิยมเอย.
พระมงคลวัฒนคุณ
(เพิ่ม กิตฺติวฑฒโน)
บทความจากเว็บ : e-shann.com